หนึ่งปีที่ไม่เท่ากัน
รายงานโดย : หนูดี – วนิษา เรซ: วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552
เวลาหนึ่งปีมีค่าไม่เท่ากันสำหรับคนสองคน ไม่เท่ากันสำหรับคนสามคน และไม่เท่ากันสำหรับคนสิบคน แม้เวลาในปฏิทินจะเท่ากันก็ตาม
ตอนอายุสิบแปด หนูดีเคยได้รับสิทธิพิเศษที่เด็กไทยน้อยคนจะได้รับในวันที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษา แต่เด็กอเมริกันหรืออังกฤษได้ รับกันเป็นเรื่องธรรมดา นั่นคือ
คำอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวหรือเรียนอะไรก็ได้เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม โดยยังไม่ต้องตรงดิ่งเข้ามหาวิทยาลัยในทันทีเหมือนเพื่อนๆ ที่จบพร้อมกัน
แนวคิดนี้เด็กฝรั่งเรียกกันว่า “Gap Year” หรือ “ หนึ่งปีระหว่าง ” ที่พวกเขามักออกเดินทางท่องโลก หรือไปลองทำงานในสาขาที่กำลังคิดจะเรียนต่อด้านนั้น หรือไปทำงานอาสาสมัครในประเทศโลกที่สาม โดยเด็กๆ และพ่อแม่หวังว่า ภายในเวลาหนึ่งปีที่ไม่ต้องถูกจำกัดด้วยระบบการศึกษา พวกเขาจะรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักโลกมากขึ้น
และกลับมาตัดสินใจเลือกเรียนได้ในสาขาที่เหมาะกับตัวเองที่สุด
หลายครั้งพวกเขาพบว่า วิชาที่เคยคิดว่าอยากเร ียน เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้อยากเรียนขนาดนั้น ที่เคยคิดว่าชอบ เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น แถมพอเปิดหูเปิดตาเปิดโลกก็มองเห็นโอกาสใหม่ๆ อาชีพใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้เจอคนจากที่ต่างๆ ที่ให้คำแนะนำต่อชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อมาอีกในระยะยาว
หนูดีได้พบเพื่อนฝรั่งหลายคนที่ใช้ “Gap Year” เสียคุ้มเกินคุ้ม บางคนไปทำงานอาสาสมัครในเม็กซิโก แล้วกลับมาตัดสินใจสมัครเรียนหมอเพื่อกลับไปช่วยคนประเทศนั้น บางคนตัดสินใจเรียนกฎหมายเพื่อไปช่วยคนที่ถูกเอาเปร ียบ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยคิดเป็นทนายมาก่อน บางคนเรียนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะติดใจการเดินทางเข้าเสียแล้ว ชีวิตหลายคนเปลี่ยนไปในทางที่ดีหลังหนึ่งปีระหว่าง
นับว่าแม่ของหนูดีกล้ามากที่อนุญาตแบบนั้นในตอนนั้น เพราะแม่ไม่บังคับอะไรเลย บอกให้หนูดี "เต็มที่" กับการเดินทางของชีวิตบทใหม่ในครั้งนี้ ส่วนเพื่อนๆ แม่ก็ดูไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยกับ “ วิธีเลี้ยงลูก ” แบบนั้น เพราะแทบทุกคนลงความเห็นว่า มันเป็นการเสียเวลาอย่างยิ่งไปเปล่าๆ หนึ่งปีโดยไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย
แต่จริงหรือ
ปีนั้นเป็นปีที่หนูดีลืมไม่ลงและมีผลกับการตัดสินใจของหนูดีตลอดมาอีกทั้งชีวิต ทำให้หนูดีเลือกเรียนในสิ่งที่เหมาะกับตัวเองที่สุดมาเรื่อยๆ ทำให้หนูดีเห็นโลกกว้างและเข้าใจ “ โลกแห่งความเป็นจริง ” ที่ชีวิตไม่ใช่แค่การทำการบ้านไปส่งครู หรือเห็นการทะเลาะกับเพื่อนรักเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในโลกอีกแล้ว หนูดีใช้เวลานั้นไปเรียนละคร เรียนร้องเพลง ไปทำงานอาสาสมัคร และไปฝึกงานแบบจริงจัง
หนึ่งในงานที่หนูดีได้ลองทำคือ การฝึกงานในโรงแรมห้าดาวโรงแรมหนึ่ง ซึ่งหนูดีต้องทำทุกอย่างตั้งแต่ขัดห้องน้ำไปจนถึงเช็ดรองเท้าให้แขก นี่เป็นคำแนะนำจากคุณแม่ค่ะ เพราะอยากให้ลูกสาวได้ลำบากเสียบ้าง และก็ได้ลำบากสมใจ แต่แถมความสนุกมาอีกเป็นกระบุง เพราะการได้ฝึกงานแผนกต่างๆ ตั้งแต่หลังบ้านไปจนถึงห้องทำดอกไม้ ทำให้หนูดีได้เห็นวิธีคิดของคนที่ต้องทำงานบริการให้ออกมาสมบูรณ์แบบทุกวินาที พลาดไม่ได้เพราะแขกจ่ายแพงมากก็หวังมาก เห็นกับตาถึงความเหนื่อยยากของคนที่อยู่ฟากของการให้บริการ จนกลายเป็นนิสัยติดตัวมาทุกวันนี้ว่า หนูดีมักจะให้ทิปเยอะไว้เสมอ
หนแร กที่ได้ทิปมาหนึ่งร้อยบาทนั้นน้ำตาแทบร่วง เพราะการรับใช้มันช่างเหนื่อยเหลือเกินค่ะ และพอมีคนเห็นค่าเร าก็หวั่นไหวได้ง่ายๆ ตอนแรกที่แม่ขอให้ฝึกงานนี้หนูดีก็ไม่เข้าใจ แต่พอได้ไปทำก็ซึ้งเลยว่า แม่อยากสอนอะไร จากเด็กที่มีแม่บ้านมาทั้งชีวิต พอต้องกลายเป็น “ แม่บ้าน ” เองก็ได้เหนื่อยสมใจแม่
ที่ขำก็คือ วันหนึ่งหนูดีขัดห้องน้ำใกล้กับล็อบบี้ ก็มีแขกผู้หญิงเดินเข้ามาหน้าคุ้นๆ ที่แท้คือ เพื่อนของคุณแม่ คุณน้าดูท่าทางงงมากถามว่า “ หนูดี หนูมาทำอะไรลูก ”
พอรู้หน้าที่ก็ขำใหญ่และยังเป็นเรื่องที่ขำกันได้จนทุกวันนี้ แม้เวลาผ่านมาประมาณสิบปีแล้ว
ชีวิตช่วงนั้นทำให้หนูดีเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงหัวใจของคนที่ทำงานให้หนูดีทุกคน ส่งผลใ ห้หนูดีไม่เคยขึ้นเสียงใส่พนักงา นแม้แต่คนเดียว ไหว้แม่บ้านและคนขับรถทุกคนก่อน และคิดด้วยหัวใจถึงเขาและครอบครัวในทุกครั้งที่ถึงช่วงขึ้นเงินเดือนประจำปี ไม่ได้ชั่งน้ำหนักแค่คำว่า “ ธุรกิจ ” เสมอไป จริงๆ แล้ว เทรนด์ที่พูดถึงคุณธรรมในการทำธุรกิจไม่ได้ใหม่ในความรู้สึกหนูดีเลย เพราะถ้าเจ้าของกิจการได้ลองพลิกบทบาทไปอยู่อีกฝั่งบ้าง คำว่า “ ความยุติธรรม ” จะผุดขึ้นมาในใจเองโดยไม่ต้องเข้าเรียนคลาส “Business Ethics” ที่ฮิตกั นนักหนาตอนนี้เลย และถ้าไม่เคยต้องยืนอยู่ในจุดนั้นด้วยตัวเอง หนูดีคงเข้าใจชีวิตผิวเผินกว่านี้อีกมาก
หนึ่งปีตรงนั้น ไปกระตุ้นต่อมความคิดสร้างสรรค์ของหนูดีเข้าอย่างจังอีกด้วย เพราะจากที่มีคนบอกว่า ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ การบ้านต้องส่งเวลานี้ รายงานต้องทำหัวข้อนี้ กลายเป็นว่าโลกนี้เปิดกว้างและไม่มีใครกำหนดอะไรอีกแล้ว จริงๆ แล้ว เวลาไม่มีใครมาบอกว่าเราควรทำอะไรเป็นเวลาที่น่ากลัวที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเวลาที่ท้าทายที่สุดเช่นกันนะคะ
หนูดีเริ่มคิดโปรเจกต์ใหม่ๆ เริ่มวางแผนชีวิต เริ่มนั่งลงดูชีวิตตัวเองอย่างจริงจังก็ปีนั้น และที่ดีที่สุดก็คือ หนูดีเปลี่ยนสาขาที่คิดจะเรียนปริญญาตรีจริงๆ เสียด้วย ทั้งๆ ที่ไม่คิดเลยว่าจะเปลี่ยน ดังนั้นแทนที่จะรีบๆ เรียนให้จบๆ ไปสี่ปีแล้วต้องเสียเวลาไปฟรีๆ สี่ปีในชีวิตเพราะไปเรียนด้านที่ไม่ชอบอย่างแท้จริง กลายเป็นว่าหนูดีได้รู้ใจตัวเองในนาทีที่เดินเข้ามหาวิทยาลัยเลย หนึ่งปีที่ใช้ไปจึงแสนคุ้มค่า เวลาผ่านไปรวดเร็ว
และของแถมที่ได้มาก็คือ “ ความเป็นผู้ใหญ่ ” ที่ตัดสินใจเป็นตั้งแต่เป็นเด็กปีหนึ่ง เพราะหนึ่งปีนั้นคุณแม่ขอร้องให้ไปเรียนผสมเหล้าและชิมไวน์ วิชาที่ปกติลูกผู้หญิงคงไม่ได้เรียนกันเท่าไร แต่คำอธิบายของแม่ก็คือ ลูกสาวต้องรู้จักเหล้าจะได้ดูแลตัวเองเป็น เพราะบ้านเราไม่มีใครดื่มเหล้ากันเลย จากเด็กที่ไม่หยิบเหล้ากลายเป็นรู้จักและผสมเป็นทุกอย่าง รู้อีกด้วยว่าดื่มอย่างไรถึงไม่เมา เหล้าอะไรมีไว้มอมผู้หญิง (แน่นอนค่ะ ครูของหนูดีซึ่งเป็นผู้ชายใจดีวัยกลางคนรีบสอนเรื่องนี้กับนักเรียนสาวๆ เป็นอย่างแรกด้วยความเป็นห่วงพวกเรา) หนูดีรู้ราคาต้นทุนของเหล้าทุกแก้ว ทำให้ยิ่งไม่อยากดื่มเข้าไปใหญ่ และพอไปเรียนต่อต่างประเทศเลยได้วิชาที่แม่ให้ไปเรียนเล่นๆ เพื่อให้รู้
มาหารายได้พิเศษเสียเลยด้วยการเป็นบาร์เทนเดอร์และพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารไทย ทำให้ชีวิตมหาวิทยาลัยต่างแดนกลายเป็นเรื่องแสนสนุก ได้เพื่อนใหม่ๆ ในร้านอาหารไทยที่ยังคบกันจนทุกวันนี้ แถมได้เงินพิเศษขนาดบางเดือนจ่ายค่าเช่าบ้านได้เลยค่ะ
น่าเสียดาย หลายครั้งที่หนูดีเห็นพ่อแม่ไทยรีบบังคับให้ลูกๆ รีบเรียนให้จบ พอจบปริญญาตรีก็ให้รีบต่อปริญญาโท จบแล้วให้รีบทำงาน ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เห็นโลกกว้างเท่าไรเลย ทำงานไม่เท่าไรก็รีบแต่งงานมีลูกกันเสียแล้ว แล้วคราวนี้พอมีลูก ก็ยาวแล้วค่ะ เพราะการมีลูกคือ งานที่มีอายุประมาณยี่สิบปีอย่างต่ำ ลาออกไม่ได้เสียด้วย หนูดีคิดว่า หนูดีอยากเห็นเด็กไทยมีโอกาสได้รับสิทธิพิเศษของการใช้ “ หนึ่งปีระหว่าง ” เพื่อปรับเข็มทิศ เช็กมุมมองชีวิต ทำความรู้จักโลกที่กว้างกว่าบ้านกับห้องเรียน โดยไม่ต้อง
รู้สึกผิด ว่าเขาโยนเวลาทิ้งไปเปล่าๆ หนึ่งปีดูบ้าง ทั้งๆ ที่ความจริงการรีบร้อนวิ่งเข้ามหาวิทยาลัยโดยไม่รู้จักตัวเองอาจทำให้เขาโยนเวลาทิ้งไปเปล่าๆ สี่ปีเหมือนกับเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
หนึ่งปีนั้นยังส่งผลให้หนูดีเป็นมิตรกับการเดินทางเรียนรู้รอบโลกมาจนทุกวันนี้ ทำให้หนูดีเห็นโลกนี้เป็นเหมือนห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ห้องใหญ่ที่ค้นคว้าอย่างไรก็ไม่จบสิ้น ตื่นเต้นได้ทุกๆ วัน หนึ่งปีของแต่ละคนไม่เท่ากันจริงๆ ค่ะ แล้วหนึ่งปีของคุณผู้อ่านมีความยาวเท่าไหนคะ.
credit : soccersuck